โครงการจัดสร้างและติดตั้งเครื่องกรองน้ำนาโนเทคโนโลยี

ตามที่สำนักงานโครงการกองทุนการศึกษา ทำเนียบองคมนตรีได้ประสานมายังสำนักงานสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อขอความอนุเคราะห์ศาสตราจารย์ ดร.จิติ หนูแก้ว ที่ปรึกษาคณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง พิจารณาการจัดสร้างเครื่องกรองน้ำนาโนเทคโนโลยีแบบประหยัดงบประมาณ เพื่อติดตั้งให้กับโรงเรียนชนบทพื้นที่ห่างไกลจำนวน ๙ แห่ง ตามรายละเอียดหนังสือสำนักงานสภาสถาบัน ที่ ศธ. ๐๕๒๔.๑๗/๒๘๕ ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐

เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ ศาสตราจารย์ ดร.จิติ หนูแก้ว พร้อมคณะทำงาน ได้เข้าพบ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการกองทุนการศึกษา และนายกสภาสถาบันฯ เพื่อหารือเรื่องการจัดสร้างและติดตั้งเครื่องกรองน้ำนาโนเทคโนโลยีให้แก่โรงเรียนชนบทพื้นที่ห่างไกลทั้ง ๙ แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในปริมาณพอใช้งานได้แต่คุณภาพต่ำ ไม่ปลอดภัยแก่การบริโภค

เครื่องกรองน้ำนาโนเทคโนโลยีเป็นเครื่องกรองน้ำที่สามารถกำจัดไอออนของโลหะหนักและลดความกระด้างของน้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติให้มีคุณภาพเหมาะแก่การบริโภคได้ ดังนั้นการจัดสร้างและติดตั้งเครื่องกรองน้ำนาโนเทคโนโลยีให้แก่โรงเรียนดังกล่าวจึงเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสุขอนามัยและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลอันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

๑ โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน จังหวัดราชบุรี >> อัลบั้มรูป
๒ โรงเรียนบ้านน้ำจวง จังหวัดพิษณุโลก
๓ โรงเรียนบ้านโจรก จังหวัดสุรินทร์
๔ โรงเรียนบ้านโนนหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี
๕ โรงเรียนบ้านกกปลาซิวนาโด่ จังหวัดสกลนคร
๖ โรงเรียนบ้านทองอินทร์สวนมอญ จังหวัดอุดรธานี
๗ โรงเรียนบ้านท่าลี่ จังหวัดอุดรธานี
๘ โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม จังหวัดเชียงราย
๙ โรงเรียนบ้านปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่

โครงการภาคสนามการประยุกต์ใช้วัสดุนาโนและความปลอดภัย

เนื่องด้วยศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ด่านช้าง สังกัดวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำวัสดุนาโนที่ได้นำเสนอและเผยแพร่ให้เกษตรกรทั่วไปได้เข้าใจและสร้างทัศนคติที่ดีในเรื่องวัสดุนาโนกับการเพาะปลูก แทนการใช้สารเคมีแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยังสามารถให้เกษตรกรมีความคิดสร้างสรรค์นำเอาสมบัติอื่นของวัสดุนาโนไปใช้ควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ด้วย ซึ่งโครงการภาคสนามการประยุกต์ใช้วัสดุนาโนและความปลอดภัยนี้จะเป็นโครงการที่สร้างความมั่นใจในการใช้งานวัสดุนาโนเป็นอย่างมาก โดยโครงการจะมีการเก็บตัวอย่างดินและน้ำ ในพื้นที่ที่ใช้วัสดุนาโนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ โดยนำนักศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมวัสดุนาโน ของวิทยาลัยนาโนฯ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างให้เกิดการเกิดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนมาสำรวจพื้นที่การเกษตรจริง ได้มาทำการวิเคราะห์คุณภาพดินและน้ำ แล้วนำมาเปรียบเทียบค่าแร่ธาตุหรือสารตกค้างที่พบนั้นเกิดจากวัสดุนาโนที่นำไปใช้กับพืช และผลที่วิเคราะห์แจ้งเป็นข้อมูลใช้ปรับปรุงสภาพดินและน้ำต่อไป การเก็บตัวอย่างได้จากสถานที่จริงที่เป็นชุมชนเกษตรกรข้างเคียงศูนย์วิจัยนาโนฯ ในตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีการนำเอาวัสดุนาโนไปใช้อย่างแพร่หลายแล้วและได้ผลตอบรับที่ดีคือช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพจากการที่วัสดุนาโนไปยับยั้งโรคของพืชและลดต้นทุนจากการใช้สารเคมีได้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุภาพของผู้บริโภคและตัวของเกษตรกรเอง ซึ่งทางวิทยาลัยฯ มีนโยบายหวังให้มีการทำเกษตรที่ยั่งยืนเป็นเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพึ่งตนเองได้  นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมความรู้ให้กระบวนการวิเคราะห์ถึงความปลอดภัยในการใช้วัสดุนาโน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม

<< อัลบัมรูป >>